ทำไมต้องรายงานช่วงเชื่อมั่นในรายงานวิจัย

Research

โดย อาจารย์นัทชา นารมย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ งานวิจัยเชิงพรรณนาที่ต้องการประมาณค่าลักษณะประชากร เช่น นักศึกษาในมหาวิทยาลัยภาคใต้มีอัตราการติดเชื้อโควิด (covid-19) ร้อยละเท่าใด คำนวณได้จากอัตราการติดเชื้อจากตัวอย่างที่ได้ศึกษา เช่น ร้อยละ 10 จากนั้นนำค่าดังกล่าวไปประมาณอัตราการติดเชื้อโควิด (covid-19) ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยภาคใต้ทั้งหมดโดยตรง ซึ่งนักวิจัยจะไม่สามารถระบุได้ว่าคำตอบมีโอกาสถูกต้องเท่าใด เพราะถ้ามีการทำซ้ำอีกครั้งด้วยวิธีเดียวกัน ก็อาจได้คำตอบที่ต่างออกไป วิธีการทางสถิติที่เหมาะสมกับการรายงานผลดังกล่าวคือ การประมาณค่าด้วยช่วงเชื่อมั่น ซึ่งเป็นวิธีการนำค่าสถิติที่คำนวณได้จากกลุ่มตัวอย่างไปประมาณค่าแบบช่วง โดยแสดงผลในรูปค่าขอบเขตล่าง (lower limit) และค่าขอบเขตบน(upper limit) ภายใต้ความเชื่อมั่นที่กำหนด โดยทั่วไปแล้วนิยมกำหนดความเชื่อมั่นไว้ที่ร้อยละ 95 ตัวอย่างในการศึกษาอัตราการติดเชื้อโควิด (covid-19) ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยภาคใต้ ตัวอย่างจำนวน 2,500 คน พบว่ามีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 10 ผลการคำนวณ 95% ช่วงเชื่อมั่นของการติดเชื้ออยู่ระหว่าง 8.89-12.14 ซึ่งมีความมั่นใจร้อยละ 95 ว่าค่าช่วงที่คำนวณได้มีความถูกต้อง กล่าวคือ ถ้ามีการศึกษาซ้ำในแบบเดียวกัน 100 ครั้ง ช่วงเชื่อมั่นที่คำนวณได้เป็นช่วงที่ถูกต้องไม่ต่ำกว่า 95 ครั้ง วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในการนำไปใช้เพื่อการประมาณค่าพารามิเตอร์ของประชากร ช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ช่วงเชื่อมั่นที่ดีควรเป็นช่วงเชื่อมั่นที่แคบหรือไม่กว้างมากนัก ดังนั้น ในการวิจัยเชิงพรรณนาที่ต้องการนำเสนอผลการศึกษาว่ามีอัตราหรือค่าเฉลี่ยของตัวแปรที่ศึกษาเท่าไหร่ การประมาณค่าพารามิเตอร์ของประชากรต้องนำเสนอในรูปแบบช่วงเชื่อมั่นจึงจะเป็นการวิเคราะห์ที่เหมาะสม