แนะนำสำนักวิชา

ความเป็นมา
“สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์”

สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เริ่มดำเนินการจัดการเรียนการสอนของสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ตั้งแต่ปีการศึกษา 2541  ซึ่งเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกพร้อมกับการเปิดรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยดำเนินการในนามของสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์  ปีการศึกษา 2541 ใน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (อาชีวอนามัยและความปลอดภัย) การเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีทั้งสองหลักสูตรนี้นับเป็นแห่งแรกในภาคใต้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมเนื่องจากเป็นสาขาขาดแคลน และเป็นการขยายศักยภาพด้านการศึกษา จากนั้นในปีการศึกษา 2549 ได้เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต ทั้งภาคพิเศษและภาคปกติ วิชาเอกการสร้างเสริมสุขภาพ และวิชาเอกบริหารสาธารณสุข และในปีการศึกษา 2558 เปิดสอนในหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน ขึ้นอีก 1 หลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรทางด้านสาธารณสุขชุมชน และสอดคล้องกับการเกิดขึ้นของสภาวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน

School of Pubplic Health WU

                  ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 มติสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีมติให้แยกสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ และ สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ออกเป็น 2 สำนักวิชา โดยได้มีการแบ่งโครงสร้างการบริหารงานสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์เป็น สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน สถานวิจัย และสำนักงานคณบดี โดยที่ตั้งของสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ เดิมตั้งอยู่ที่อาคารวิชาการ 2 และได้ย้ายมายังอาคารวิชาการ 8 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

                  จากนั้นในปีการศึกษา 2561 เปิดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาอีก 2 หลักสูตรคือหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขภาพ) และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขภาพ) และในปีการศึกษา 2563 ได้เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรบัณฑิตศึกษาระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในหลักสูตร Master of Science, Philosophy of Doctorate in Environmental, Safety Technology and Health

                  สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มีภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ ผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยจัดการศึกษาแบบไตรภาคตามระบบของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยส่วนงานสนับสนุนต่างๆ อยู่ภายใต้รูปแบบ “รวมบริการ ประสานภารกิจ” คือการทำงานแบบรวมระบบงานสนับสนุน เช่น ระบบสนับสนุนด้านการเรียนการสอน ระบบการเงิน ระบบบัญชีและพัสดุ และระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร เป็นต้น โดยปัจจุบัน (มีนาคม 2565) มีคณาจารย์ทั้งหมด 46 คน พนักงานสายปฎิบัติการ 8 คน นักศึกษาระดับปริญญาตรี 944 คน นักศึกษาระดับปริญญาโท 39 คน นักศึกษาระดับปริญญาเอก 10 คน

Our story

สีประจำสำนักวิชา

สี salmon pink (R:255, G:170, B:150)

                  สี Salmon pink เป็นสีของเนื้อปลา Salmon ซึ่งเป็นปลาที่กำเนิดในแหล่งน้ำจืด และไปดำรงชีวิตอยู่ในมหาสมุทร เมื่อถึงฤดูวางไข่ ปลาจะว่ายจากมหาสมุทรแล้วทวนกระแสน้ำเชี่ยวกราดของธารน้ำจืดบนเทือกเขาสูงชันมายังจุดที่มันเคยถือกำเนิดขึ้นรวมระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ และจบชีวิตลง แล้วลูกปลาเมื่อออกจากไข่ ก็จะว่ายน้ำสู่มหาสมุทร และเมื่อโตเต็มวัยมันก็จะทำเช่นเดียวกับพ่อแม่ของมัน 

                  การว่ายทวนกระแสน้ำเชี่ยวกราดและสูงชันนั้น ย่อมต้องใช้กำลัง ความพยายามและความอดทนมากกว่าการว่ายตามน้ำหรือไหลไปกับน้ำ พฤติกรรมของปลาชนิดนี้จึงเปรียบเสมือนนักสาธารณสุขที่ต้องทำงานทวนกระแสความเคยชินเพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหาสุขภาพของปวงชนให้ปกติสุข บ่อยครั้งปัญหาสุขภาพมักจะเกิดจากพฤติกรรมความเคยชิน เช่น พฤติกรรมการบริโภค พฤติกรรมการออกกำลังกาย การละเลยข้อบังคับหรือกฎหมาย พฤติกรรมการจัดการมูลฝอย ล้วนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ นักสาธารสุขจึงต้องยืนหยัดปฏิบัติตนทวนกระแสความเคยชิน ทวนกระแสความสะดวกสบายในการป้องกันปัญหาสุขภาพอยู่เสมอ นอกจากนั้นแล้วสี Salmon pink ที่ประทับอยู่ในหัวใจของนักสาธารณสุขวลัยลักษณ์ทุกคน เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้กลับหวนระลึกถึงถิ่นกำเนิด อันสถานที่ที่ประสิทธิประสาทวิชาให้ถึงพร้อมด้วยวิทยา จริยาและปัญญา  พร้อมที่จะออกไปเผชิญกับโลกว้าง นั่นคือสำนักวิชาสาธารสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

We are PH-WU
PHWU-Color

ประกาศ
สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์
เรื่อง กำหนดชื่อพรรณไม้ประจำสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์

        ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประจำสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 เห็นสมควรให้กำหนดชื่อพรรณไม้ประจำสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ โดยเสนอพรรณไม้ชื่อ “อโศก” ด้วยพิจารณาเห็นแล้วว่าพรรณไม้ชนิดดังกล่าวมีชื่อที่มีความหมายมงคล หมายถึง ไม่โศก หรือความสุขฤทัยอันเกิดจากความรักที่ไม่เห็นแก่ตนเป็นที่ตั้ง ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ความเมตตากรุณา เฉกเช่นปณิธานของนักสาธารณสุขที่จะต้องอุทิศตนเพื่อความสุขแห่งปวงชน อีกทั้งอโศกเป็นไม้ยืนต้น ให้ร่มเงา มีรากแข็งแรง ดอกเป็นช่อสีแสด และมีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และติดฝักในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บัณฑิตสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ผู้เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ได้สำเร็จการศึกษา พร้อมที่จะเจริญงอกงามไพบูลย์ ผลิดอกส่งกลิ่นหอมไปทุกทิศานุทิศ เป็นร่มเงาปกป้องสุขภาพของปวงชน และยืนหยัดเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติ ซึ่งได้เสนอต่อประชุมบุคลากรสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ประจำเดือนมกราคม 2564 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 เพื่อพิจารณา
        ในการนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กำหนดพรรณไม้ชื่อ “Saraca indica Linn” ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ว่า “อโศก” เป็นพรรณไม้ประจำสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์และกำหนดเป็นสัญลักษณ์ ดังนี้

           1.  ใช้เป็นชื่อรุ่นของนักศึกษาสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ว่า “อโศก ช่อที่…”
           2.  ใช้เป็นชื่อลานด้านทิศเหนือของอาคารวิชาการ 8 ว่า “ลานอโศก”

          ประกาศ ณ วันที่ 27  มกราคม พ.ศ.2564 

PHWU-Flower-Asoke

Background


สำนักวิชา

Download here