โรคระบาดในไทยกับอนามัยสิ่งแวดล้อม

โรคระบาดในไทย

“ครั้นมาถึงเดือนเจ็ดข้างขึ้น เวลายามเศษทิศพายัพเห็นเป็นแสงเพลิงติดอากาศเรียกว่าทุมเพลิง เกิดไข้ป่วงมาแต่ทะเล ไข้นั้นเกิดมาแต่เมืองเกาะหมากก่อน แล้วข้ามมาหัวเมืองฝ่ายตะวันตก เดินขึ้นมาจนถึงปากน้ำเจ้าพระยา ชาวเมืองสมุทรปราการตายลงเป็นอันมาก ก็พากันอพยพขึ้นมากรุงเทพมหานครบ้าง แยกย้ายไปทิศต่าง ๆ บ้าง ที่กรุงเทพก็เป็นขึ้นเมื่อ ณ วันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 ไปจนถึงวันเพ็ญ คนตายทั้งชายหญิง ศพที่ป่าช้าแลศาลาดินในวัดสระเกษ วัดบางลำพู วัดบพิตรพิมุข วัดประทุมคงคา และวัดอื่น ๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืนที่เผาเสียมากกว่า แลที่ลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์หนีออกจากวัด คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน เป็นที่น่า เอน็จอนาถ ถนนหนทางไม่มีคนเดิน ตลาดก็ไม่ผู้คนซื้อขายกัน ต่างคนต่างกินแต่ปลาแห้งกับพริกกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำกินไม่ได้ อาเกียรณ์ไปด้วยซากศพ”1 ข้อความจากพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 2 ที่เล่าถึงการมาถึงและความน่ากลัวของอหิวาตกโรค หรือที่สมัยนั้นเรียกว่า “ไข้ป่วง” ที่ทำให้ผู้คนในประเทศไทยล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเองได้มีการกล่าวถึงการระบาดของโรคครั้งใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากนอกเหนือจากอหิวาตกโรค คือ กาฬโรคและไข้ทรพิษ กระทั่งมีคำเรียกการล้มตายด้วยโรคระบาดลักษณะนี้ขึ้นว่า “โรคห่า” และถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีการตายแบบห่าลงเนื่องจากโรคระบาดเฉกเช่นในอดีตอันเนื่องมาจากการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น แต่ประเทศไทยเองยังคงเผชิญกับโรคระบาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและการสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยได้เผชิญกับโควิด-19 ที่ได้สร้างความความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งโรคระบาดทั้งในอดีตและปัจจุบันหลาย ๆ โรคนั้นมีสาเหตุการเกิดมาจากการมีสุขอนามัยที่ไม่ดีและดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรคนอกเหนือจากเรื่องการรักษาผู้ป่วยและการสร้างภูมิคุ้มกันคือการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ2 การระบาดใหญ่ของหลาย ๆ โรคตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นมีความสัมพันธ์กับการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี อาทิเช่น การระบาดของกาฬโรคที่มีการระบาดทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ซึ่งมีการระบาดหลายระลอกตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งถึงสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ทำให้ผู้คนในยุคนั้นล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งกาฬโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Yersinia pestis โดยมีสัตว์ฟันแทะ อาทิเช่น หนู และหมัดของมันเป็นพาหะนำเชื้อแบคทีเรียแพร่ไปยังสัตว์อื่นหลายชนิดรวมถึงมนุษย์ สำหรับการเริ่มต้นระบาดในประเทศไทยน่าจะเกิดจากหนูที่มีเชื้อกาฬโรคติดมากับเรือสินค้าจากต่างประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2447 ได้มีการรายงานว่าพบผู้เสียชีวิตที่น่าสงสัยจะเป็นกาฬโรคบริเวณที่อยู่ของพ่อค้าชาวอินเดียฝั่งธนบุรี คาดว่าน่าจะเกิดจากหนูที่มีเชื้อที่ติดมากับเรือสินค้าที่มาจากเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย หลังจากนั้นการระบาดก็แพร่ไปยังฝั่งพระนคร และระบาดไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการค้าขายติดต่อกันทั้งทางบก ทางเรือ และทางรถไฟ ส่งผลให้ประเทศไทยมีการระบาดอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2495 จากนั้นประเทศไทยไม่มีรายงานกาฬโรคจนกระทั่งถึงปัจจุบัน3 ซึ่งองค์ความรู้ด้านการจัดการสุขาภิบาลที่พักอาศัยและการควบคุมและป้องกันสัตว์พาหะนำโรคเป็นหนึ่งในองค์ความรู้สำคัญที่ช่วยในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของกาฬโรค เพราะช่วยป้องกันไม่ให้มีหนูหรือเกิดการเพิ่มจำนวนหนูภายในบริเวณที่พักอาศัย4 อีกหนึ่งโรคระบาดที่มีความรุนแรงของประเทศไทยคืออหิวาตกโรคซึ่งเกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae5 ซึ่งผู้คนในอดีตยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำได้เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตเท่านั้น ดังเช่นประโยคที่เขียนไว้ในพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 2 ว่า “เห็นอยู่แต่โรคนี้ชอบของโสโครกโสมมคนมักตายมาก คนที่สะอาด เหย้าเรือนไม่เปื้อนเปรอะก็ตายน้อย เพราะฉะนั้นชาวยุโรปจึงถือความสะอาดนัก”1 สะท้อนให้เห็นว่าความชัดเจนของการควบคุมและป้องกันโรคในสมัยนั้นยังไม่มี ประกอบกับวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นมีการใช้น้ำจากลำคลองเป็นหลักทั้งในการดื่มและการรองรับสิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือนทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่ประเทศไทยในปัจจุบันการแพร่กระจายของอหิวาตกโรคไม่รุนแรงเทียบเท่ากับในอดีตเนื่องจากการพัฒนาระบบประปาทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดที่ปราศจากเชื้อโรค และการพัฒนาของส้วมในแต่ละครัวเรือนโดยที่ประชาชนไม่ต้องขับถ่ายลงในแหล่งน้ำหรือดินเฉกเช่นในอดีต6 ถึงแม้ว่าในปัจจุบันโรคที่เคยมีความรุนแรงเป็นอย่างมากในอดีตจะถูกกำจัดหรือลดความรุนแรงลงไปอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของการแพทย์และการสาธารณสุข แต่ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยได้เผชิญหน้ากับโควิด-19 ที่ทำให้เกิดความสูญเสียสุขภาพ เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนภายในประเทศ ซึ่งมาตรการหลักที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและการกักตัวเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อคือ มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น การทำความสะอาดจุดเสี่ยงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การจัดการส้วม การจัดการมูลฝอยติดเชื้อ การจัดการระบายอากาศ และการสร้างเสริมสุขอนามัยส่วนบุคคล7 ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการรับสัมผัสและการแพร่กระจายของเชื้อจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ เหตุการณ์โรคระบาดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้สะท้อนให้ว่าอนามัยสิ่งแวดล้อมคือศาสตร์หนึ่งที่มีความสำคัญต่อการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค เพราะโรคระบาดหลาย ๆ โรคมีสาเหตุที่สำคัญมาจากการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นการส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักให้กับประชาชนทุกคนในเรื่องของอนามัยสิ่งแวดล้อมจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ ได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตราบใดที่คนและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแยกการใช้ชีวิตออกจากกันได้ ศาสตร์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมยังคงมีความจำเป็นและต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของทุกคนล้วนสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ถ้าหากมีการจัดการที่ไม่เหมาะสมเฉกเช่นเรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เอกสารอ้างอิง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2504. Wisner, B. & Adams J. Environmental Health in Emergencies and Disasters. WHO library Cataloguing-in-publication Data 2002; 71–82. สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่. องค์ความรู้ (Factsheet) เรื่อง โรคติดต่ออุบัติใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2554. Santos N de J, Sousa E, Reis MG, et al. Rat infestation associated with environmental deficiencies in an urban slum community with high risk of leptospirosis transmission. Cadernos de saude publica 2017; 33: e00132115. CDC. Cholera – Vibrio cholerae infection. Centers for Disease Control and Prevention, https://www.cdc.gov/cholera/illness.html (2020, accessed July 10, 2022). WHO. Cholera. World Health Organization, https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/cholera (2022, accessed July 10, 2022). กรมอนามัย. คู่มือมาตรการและแนวทางการดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19). นนทบุรี, 2020.