ลองโควิดฟื้นฟูด้วยอาหาร

Food-for-Long-COVID-

บทความโดย อ.จารุเนตร เพ็ชรชู สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลองโควิด (Long COVID) คือ ภาวะของคนที่หายจากโควิด-19 แล้วแต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งอาการลองโควิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 10–20 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุถึงอาการที่เกิดขึ้น เช่น รู้สึกไม่สบายเหมือนไม่หายจากการเจ็บป่วย การหายใจไม่อิ่มและไม่สุด เหนื่อย เพลีย มึนศีรษะ คิดอะไรไม่ออก หรือซึมเศร้าและมีภาวะเครียด รวมถึงบางรายอาจปวดเมื่อย ปวดข้อ ใจสั่น โดยมักจะเป็นอยู่ 1-3 เดือน หลังจากหายจากการติดเชื้อ บทความนี้จึงนำเสนออาหารชนิดต่าง ๆ ที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแก่ผู้ป่วยลองโควิด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำผู้ป่วยลองโควิดดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของตนเองอยู่เสมอ โดยให้รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด และย่อยง่าย เนื่องจากร่างกายอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ทั้งนี้หากมีอาการเบื่ออาหารควรแบ่งอาหารเป็น 3 มื้อหลัก 2 มื้อย่อย ต่อวัน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ตลอดวัน ไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย และควรเลือกรับประทานอาหาร ดังนี้ • อาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว รวมถึงอาหารที่ย่อยง่ายและมีไขมันต่ำ เช่น ไข่ตุ๋น ปลานึ่ง เมี่ยงปลาทู • อาหารที่มีโพรไบโอติก (Probiotics) ได้แก่ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว เน้นชนิดที่มีนํ้าตาลน้อย โดยสังเกตจากฉลากโภชนาการหรือสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” • อาหารที่มีพรีไบโอติกและมีใยอาหารสูง เช่น ผักสด สลัด ธัญพืช และ • หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป แช่แข็ง หมักดอง ปิ้งย่าง ของมัน ของทอด อาหารรสจัด ย่อยยาก และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาหารเหล่านี้มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง อีกทั้งควรเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ช่วยซ่อมแซมให้ร่างกายกลับมาฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยลองโควิด ได้แก่ • วิตามินซี พบในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง • วิตามินเอ พบในผัก 5 สี เช่น ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง รวมถึงเครื่องในสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม • วิตามินดี พบในปลานิล ปลาทับทิม ไข่แดง เห็ดหอมแห้ง สาหร่าย และ • แร่ธาตุสังกะสี พบในสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เนื้อสัตว์ ปลา หอยนางรม ธัญพืช นอกจากนี้ผู้ป่วยลองโควิด ควรสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากมีอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาต่อไป อ้างอิง World Health Organization. (2021). Coronavirus disease (COVID-19): Post COVID-19 condition. Retrieved 9 May 2022, from: https://www.who.int/news-room/questions-and-answers/item/coronavirus-disease-(covid-19)-post-covid-19-condition กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2565). กรมอนามัย แนะผู้ป่วยลองโควิด-19 เน้นกิน ‘โปรตีน – โพรไบโอติกส์ – วิตามิน’ ช่วยฟื้นฟูร่างกาย. สืบค้น 9 พฤษภาคม 2565, จาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/160265/ Facebook Comments Box