อาชีวอนามัยฯ วลัยลักษณ์ จัดเสวนาออนไลน์ “จป.วิชาชีพกับบทบาทสำคัญในการรับมือเหตุฉุกเฉินแผ่นดินไหว”
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting ในหัวข้อ “จป.วิชาชีพกับการรับมือเหตุฉุกเฉินแผ่นดินไหว” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.วิชาชีพ) ในการเตรียมความพร้อมและรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ภายในงานได้รับเกียรติจากศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยที่ปฏิบัติงานอยู่ในตำแหน่งสำคัญด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการชั้นนำของประเทศ มาร่วมเสวนาและแบ่งปันประสบการณ์ตรงจากภาคสนาม โดย นายศุภเดช นิยมทอง ผู้จัดการแผนกความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้เน้นถึงความสำคัญของแผนฉุกเฉินที่ต้องสามารถดำเนินการได้จริงในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเกิดเหตุขึ้นกลางวันหรือกลางคืน ขณะที่ นายมรุตพงศ์ คงเขียว นักวิชาการแรงงานชำนาญการ จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้นำเสนอแนวคิดด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่ต้องกำหนด “ช่องทางและลำดับขั้นของการสื่อสารให้สั้น กระชับ รวดเร็ว และทันเหตุการณ์” ในมุมมองของสถานประกอบการขนาดใหญ่ นายศักดิ์ศิวา หล่อทอง ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัย บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จของแผนฉุกเฉินอยู่ที่การกำหนด “ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร” พร้อมฝึกซ้อมให้ทุกคนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองและสามารถปฏิบัติได้จริงในสถานการณ์จริง ขณะที่ นายอาทิตย์ สิงห์ขรณ์ หัวหน้าอาวุโส จป.ระดับวิชาชีพ บริษัท ไทย โอบายาชิ จำกัด ได้เน้นถึงบทบาทของผู้บริหารที่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในระดับนโยบาย และสามารถขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติได้จริง อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจคือ นายอนุสรณ์ พินธุ ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด ได้เสนอว่า “การสื่อสารในภาวะวิกฤต” ควรใช้วิธีที่เข้าใจง่าย ตรงประเด็น และสามารถนำไปสู่การอพยพคนได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในเวลาที่จำกัด กิจกรรมเสวนาครั้งนี้ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันจิรา มหาบุญ รองคณบดี สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งได้กล่าวสรุปบทบาทของ จป.วิชาชีพในยุคปัจจุบันว่า จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่รอบด้าน คิดเชิงระบบ และสามารถประยุกต์ใช้แนวทางความปลอดภัยให้เข้ากับบริบทของแต่ละองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเสวนาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน พร้อมยกระดับวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้สามารถเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ได้อย่างมั่นใจ